ครึ่งหลังของปี 2024 เป็นช่วงเวลาที่เรา – ในฐานะฟรีแลนซ์สายเขียนสคริปต์ – ตัดสินใจจ่ายเงินให้กับ Generative AI 3 บริษัท คือ Claude ai, Perplexity, และ ChatGPT (ส่วน Gemini ยังไม่ได้สมัครแบบ advanced)
ราคา : เฉลี่ยเจ้าละ 700 บาทต่อเดือน
หลักๆ คือ ใช้ช่วยทำสคริปต์ YouTube กับ TikTok ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ไม่ได้จบที่ตัว “งานเขียน” เพราะต้องพึ่งพาเสน่ห์ของผู้ดำเนินรายการหรือคนหน้ากล้องอีกที
(ใครยังนึกไม่ออก ให้นึกภาพประมาณว่า เป็นสคริปต์ช่องประวัติศาสตร์ ที่มีพิธีกรนำสคริปต์มาเล่าต่ออีกทีนึง)
ดังนั้น โพสต์นี้จะรีวิวจากเงื่อนไขการใช้งานแบบนี้ (ไม่ได้ใช้ AI เขียนงานวิจัยวิชาการหรือวรรณกรรมแต่อย่างใด)
สรุปอีกครั้ง : เราใช้ Generative AI หรือ เอไอ ตัวไหนบ้าง?
เราใช้ Generative AI หรือ เอไอ ช่วยเขียนและตรวจสอบข้อมูล 3 เจ้า ได้แก่
Claude ai , Perplexity, และ ChatGPT
1.รีวิว Claude ai
[คาแรกเตอร์]
สำหรับเรา Claude ai คือ เด็กคณะอักษร มีความแพรวพราวด้านภาษา และรอบรู้ด้านปรัชญา มนุษยศาสตร์ และสังคมเศรษฐกิจ(บ้าง)
[ภาพรวม]
ในแง่ภาษาไทย ตัว “คล็อด” หรือ Claude เริ่ดที่สุดในปฐพีแล้วตอนนี้ ภาษาไทยแพรวพราว รู้จังหวะจะโคน รู้จักการใส่มุกภาษาไทย เรียนรู้สไตล์ต่างๆ ได้ไว เช่น อยากให้เขียนงานที่ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เหมือนเพื่อนคุยกัน แต่แทรก insight เข้าไปบางช่วง พร้อมปล่อยมุกบางจังหวะ ก็ทำได้ดีมากๆ
กรณีที่มีตัวอย่างงานเขียน (ของเราเอง) และ prompt อย่างเหมาะสม พบว่า ผลลัพธ์คือดีเยี่ยมเกือบ 100% (สำหรับงานเขียนแนวสคริปต์ YouTube)
เราพึงพอใจมาก
สำหรับใครที่เขียนอย่างอื่นนอกจากสคริปต์ YouTube เจ้า Claude ก็ทำงานได้ดีมาก
ยืนยันว่า ถ้ามีงบแค่ 1 เจ้า ให้จ่ายกับเจ้านี้
แต่ย้ำอีกรอบว่า กรณีคุณทำงานเขียนเป็นงานหลักนะคะ เจ้านี้ตอบโจทย์มากๆ
[ข้อสังเกต]
Claude จะช่วยเขียนได้ดี แต่เราต้องขึ้นโครงให้เขาด้วย นอกจากนี้ น้องยังมี hallucination เหมือน Generative AI ทั่วไป
ดังนั้น ขีดเส้นใต้ตัวใหญ่ๆ ว่า – คุณต้องพอเข้าใจในประเด็นหรือหัวข้อที่คุณเขียนด้วย อาจไม่ต้องเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ แต่คุณต้องพอมองออกว่า ตรงไหนที่น้องคล็อดเริ่มเขียนแหม่งๆ และตรงไหนที่น้องคล็อดเขียนดีอย่างคาดไม่ถึง
[สิ่งที่เราสั่งให้น้องช่วย]
-ก่อนสั่ง prompt ปกติ “เราควรจะพอเข้าใจใน domain หรือประเด็นของสิ่งที่เราจะเขียนอยู่แล้วเกิน 50%” เช่น เราเขียนเรื่อง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนปัจจุบัน อย่างน้อยๆ เราจะพอรู้ว่า ประธานาธิบดีคนแรกนั้นโผล่มายุคไหน จนถึงปัจจุบันมีกี่คนแล้ว (เผื่อน้องคล็อดบอกจำนวนผิด)
-จากนั้น เราจะ “ใส่งานเขียนอันก่อนของเราขึ้นไป” (กรณีมีงานเขียนของตัวเอง) หรือถ้าใครไม่มี ก็มักจะอัพงานเขียนของนักเขียนที่ชื่นชอบสไตล์ขึ้นให้น้องคล็อดเรียนรู้ โดย Prompt คือ
“จงศึกษาสไตล์การเขียนดังต่อไปนี้”
น้องจะวิเคราะห์ออกมา เช่น เป็นงานเขียนเชิงวิชาการ ที่มีการสอดแทรกอารมณ์ขัน และมีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพเป็นระยะ เป็นต้น
-จากนั้นจึงเริ่มเขียน “โครง” ให้น้องคล็อด โดยโครงจะประมาณนี้
หัวเรื่อง หรือประเด็น เช่น ประวัติของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตั้งแต่คนแรก จนถึงคนปัจจุบัน
เกริ่นนำ – จงช่วยเขียนว่า เกาหลีใต้เริ่มมีประธานาธิบดีคนแรกเมื่อไหร่ แล้วทำไมถึงมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบก่อนหน้า มาเป็นประธานาธิบดี แล้วการมีประธานาธิบดี มันส่งผลอย่างไรต่อสังคมการเมืองและการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของเกาหลีใต้
เนื้อหาหลัก – จากนั้นจงใส่ประวัติประธานาธิบดีทุกคน คนละไม่ต่ำกว่า 750 คำ หรือ Words โดยใส่ fun fact หรือเหตุการณ์การขึ้นสู่ตำแหน่ง และจุดจบของแต่ละคนให้หน่อย
สรุป – ช่วยวิเคราะห์จุดเหมือนและจุดต่างของประธานาธิบดีแต่ละคน และช่วยสรุปบทเรียนให้ผู้อ่าน
บทความทั้งหมด ตั้งแต่ เกริ่นนำ, เนื้อหาหลัก, รวมถึงสรุป ขอไม่เกิน 4,000 คำ
-เมื่อส่งโครงให้น้องช่วยเขียนแล้ว น้องมักจะทำงานมาได้ดีสัก 60-90% ตามแต่หัวเรื่องว่ามีความซับซ้อนมากหรือน้อย
ในส่วนที่น้องขาดไป ก็สามารถเติมหรือสั่งให้น้องช่วยแก้ไขได้
-แต่ทั้งนี้เมื่อเราให้น้องคล็อดช่วยเขียนจนพอใจแล้ว เราจะยังไม่จบเท่านี้ เราจะส่งบทความที่น้องช่วยเขียน ไปให้ Generative AI อีกเจ้า ช่วยตรวจสอบ
นั่นคือ เจ้าที่ 2 ด้านล่างนี้
2.รีวิว Perplexity
[คาแรกเตอร์]
สำหรับเรา Perplexity คือ เด็กเนิร์ดนักอ่านที่อ่านดะ ถามได้ตอบได้ประหนึ่ง Google แต่ดีกว่าตรงชอบมีอ้างอิงมาให้ด้วย
[ภาพรวม]
Perplexity หรือน้องเพอร์ ที่เรารู้จัก น้องคือ เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียน รอบรู้หลายประเด็น มีอ้างอิงให้แน่น แต่น้องก็รู้เท่าที่ห้องสมุดมีให้น้องอ่าน ถ้าเนื้อหาไหนไม่มีในห้องสมุด (ที่เรียกว่า internet) น้องก็ตอบไม่ได้นะคะ
เช่น เรามีวิจัยพื้นที่ชิ้นนึง ที่ไม่เคยเผยแพร่งานในออนไลน์มาก่อน ถาม Perplexity ให้ตาย น้องเพอร์ก็ตอบสิ่งนี้ไม่ได้ หรือตอบมั่ว
ในแง่งานเขียน น้องเพอร์ไม่ถนัดเขียน หรือเขียนไม่เก่งเท่าพี่คล็อด น้องเพอร์ตอบไม่ยาวมาก (หรืออย่างน้อยเท่าที่เราเจอ คือน้องตอบไม่ยาว) ภาษาที่น้องใช้ ดูเป็นทางการ หรือภาษาข่าว หรือภาษาเลขาสรุปให้เจ้านาย
ดังนั้น ด้วยจุดเด่นที่น้องแสนรอบรู้ เราเลยมักใช้น้องหาข้อมูลเบื้องต้น เช่น “ขอทราบประวัติศาสตร์ทองคำหน่อยค่ะ” น้องก็จะหาแล้วเขียนสรุปให้ พร้อมแนบอ้างอิง
หรือจุดเด่นอีกอย่างของน้อง คือ เราให้น้องช่วยตรวจทานบทความให้ เช่น เราแปะบทความที่น้องคล็อดช่วยเขียน แล้วบอกน้องเพอร์ว่า “ช่วยดูหน่อยว่าบทความด้านล่าง ถูกต้องไหม”
แค่นี้น้องก็จะบอกจุดที่ “ถูก” กับจุดที่ “อาจต้องทบทวนหรือตรวจสอบ” ได้แล้ว
สำหรับน้องเพอร์ เราใช้น้องแค่นี้จริงๆ แต่พอดีมีเรื่องตรวจสอบเยอะ ครอบจักรวาล ตั้งแต่ประวัติศาสตร์น้ำตาล ประวัติศาสตร์อ้อย ประวัติศาสตร์ควาญช้าง เป็นต้น การใช้น้องช่วยให้ข้อมูและช่วยตรวจสอบ แค่นี้ก็คุ้มแล้วกับเดือนละ 700 บาท …ในมุมมองของเรานะ
3.รีวิว ChatGPT
[คาแรกเตอร์]
สำหรับเรา น้องแชท ไม่ใช่ “เด็กอักษร” แน่ๆ น้องดูเป็นเด็กวิศวะเทิร์นสนใจการตลาด เด็กถาปัดเทิร์นสนใจการเมือง เด็กแพทย์เทิร์นสนใจเสดสาดการลงทุน เป็นต้น
อ้อ…น้องแชทดูชอบอ่าน non-fiction มากกว่า fiction อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะภาษาน้องดูเป็นแก๊ง non-fiction มากๆ
[ภาพรวม]
น้องแชทน่าจะเป็น Generative AI ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยที่สุดแล้ว จริงๆ นอกจากการเขียนแล้ว น้องยังทำได้ดีในเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับแนวนี้ เช่น เรา prompt ให้น้องช่วย “ตรวจพิสูจน์อักษร” หรือให้น้องช่วยถอด text ออกมาจากภาพ (เช่น โปสเตอร์ที่มีเนื้อหาเยอะๆ ให้น้องช่วยถอดออกมา)
ส่วนศักยภาพด้านอื่น เช่น เขียนโค้ด บัญชี วิเคราะห์การเทรดหุ้น วิเคราะห์การแพทย์ ฯลฯ น้องทำได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ใช่หัวข้อที่เราถนัด เราเลยไม่เคยใช้จริงจัง และในที่นี้ก็อย่างที่แจ้งว่า มารีวิวเรื่อง “การเขียน” เป็นหลักมากกว่าศักยภาพด้านอื่น
[เหมาะสำหรับใคร]
เราว่าน้องแชทเรียบเรียงประเด็นได้ดี ถ้าใครเขียนคอนเทนต์แนวที่ใช้ภาษาขรึม ทางการ ภาษาวิจัย น้องแชทเหมาะมาก จ่ายน้องเดือนละ 700 บาท ถือว่าคุ้มเลย
ส่วนเรื่อง hallucination เป็นกันทุกตัวนะคะ ไม่มีตัวไหนไม่เป็น
[ข้อสังเกต]
ข้อสังเกตแบบส่วนตัวคือ ถ้า prompt น้องไม่เคลียร์ บางทีน้องแชทจะให้ “งานเขียน” ที่ยังมีกลิ่น robotic อยู่นะคะ แต่ก็น้อยลงเยอะแล้ว คือน้องเขียนดีนะ แต่ภาษาไทย ยังยกให้ น้องคล็อดชนะอยู่
ความคิดเห็นในแง่การใช้ AI ช่วยงานเขียน (สคริปต์)
ในมุมมองที่เราเคยทำอาชีพบรรณาธิการบทความ ของนิตยสาร , ทำงานเขียนออนไลน์มาก่อน , และทำสคริปต์ให้ช่อง YouTube และช่อง TikTok
เราพบว่า ปัจจุบัน Generative AI พัฒนามากขึ้น เชี่ยวชาญภาษาไทย และสามารถช่วยงานนักเขียน บรรณาธิการ นักวิจัย นักวิชาการ ได้มากขึ้น
ในแวดวงเพื่อนของเรา เราสังเกตเห็นว่า เพื่อนนักเขียนและบรรณาธิการ เกิน 70% ยังไม่ได้ทดลองเพื่อเรียนรู้ศักยภาพของ Generative AI ที่มีอยู่ (หมายถึงยังไม่ยอมจ่ายเงินรายเดือนเพื่อใช้อย่างจริงจัง) ซึ่งเราเสียดายเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่า AI เป็นผู้ช่วยนักเขียนและบรรณาธิการได้ดีมากๆ
“เป็นผู้ช่วย” ไม่ได้หมายถึง “มาแทนที่”
เพราะสุดท้ายแล้ว ความครีเอทีฟ ความพลิกแพลง ความเจาะลึกในมุมมองของมนุษย์ เราว่า มนุษย์ด้วยกันยังทำงานนั้นได้ดีกว่า Generative AI
เพียงแต่ว่า มันจะทำให้มนุษย์บรรณาธิการที่เก่งอยู่แล้ว เก่งขึ้นได้อีก (หรือมีเวลานอนมากขึ้น)
และทำให้คนเขียนสคริปต์ที่เขียนได้น่าอ่านน่าฟังอยู่แล้ว ผลิตงานดีๆ ออกมาสู่โลกได้มากขึ้น (หรือมีเวลานอนมากขึ้น)
อยากให้เปิดใจกันดูค่ะ
ลองจ่ายค่า subscription สักเดือน
หรือถ้าใครไม่แน่ใจจริงๆ ลองทักมาให้เราสอนได้
ที่ LINE OA : @tiktokthailand.com (มี @ ด้านหน้า)
ช่วงเดือนมกราคมปี 2568 ยังมีเวลาที่จะสอนฟรีสัก 30 นาทีต่อสัปดาห์ค่ะ (ทางออนไลน์)
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้
และสวัสดีปีใหม่ 2568 แก่ทุกท่าน
ติดตามคอนเทนต์แนว Slowlife Productivity ได้ทุกสัปดาห์ ทาง tiktokthailand.com
หรือเพิ่มเพื่อนโดย add LINE OA: @tiktokthailand.com หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/5i4PIsE
และนับแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ติดตามช่อง YouTube แนว Slowlife Productivity ได้ทาง https://www.youtube.com/@DearTiktokChannel